Inclusive Education++

Inclusive Education

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ


การจัดการศึกษาสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ ควรใช้หลักการทั่วไปที่ใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการประเภทต่างๆ ดังนี้
1. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละคน โดยจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ( Individualized Education Program = IEP )
2. จัดให้คนพิการได้รับสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลือตามความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละคนอย่างครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ
3. จัดทำแผนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
การจัดหลักสูตรในแต่ละระดับ
ระดับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร มี 3 ระดับ คือ
1. ระดับวัยก่อนเรียน หลักสูตรสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายในระดับนี้ ควรเน้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการสื่อสาร (การสื่อความหมาย) การเคลื่อนไหวรวมไปถึงการพัฒนา กล้ามเนื้อใหญ่ (แขน ขา) และกล้ามเนื้อเล็ก (นิ้วมือ) จุดมุ่งหมายสำคัญของการเตรียมความพร้อมในระดับนี้คือให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก
ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเด็กประเภทนี้ คือการพูดและภาษา ซึ่งในบางรายอาจช้ากว่าเด็กปกติ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะด้านการพูดและภาษาของเด็กให้สามารถสื่อสารกับ ผู้อื่นได้
2. ระดับประถมศึกษา หลักสูตรในระดับประถมศึกษาอาจเป็นหลักสูตรเดียวกันกับที่ใช้สำหรับเด็กปกติ แต่ความแตดต่างที่สำคัญในระดับประถมศึกษา คือ หลักสูตรสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ ควรเน้นทักษะทางสังคม ทั้งนี้บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพยังขาดทักษะในการติดต่อ ผูกมิตรกับเด็กปกติ อาจเป็นเพราะเด็กหลายคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความพิการของตนเอง ดังนั้นหลักสูตรในระดับนี้ ควรเน้นทักษะในทางสังคมเพิ่มเติมในหลักสูตรสำหรับเด็กปกติ
3. ระดับมัธยมศึกษา หลักสูตรสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ควรมีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากเด็กปกติมากนัก เพราะเด็กประเภทนี้ส่วนมากต้องการได้รับการรับรองว่ามีความสามารถด้านการเรียนเท่าเทียมกับเด็กปกติ จุดเน้นของหลักสูตรในระดับนี้อยู่ที่หมวดสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและการเตรียมความพร้องทางด้านอาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้ว ทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องมี อาจได้แก่ การใช้บริการรถสาธารณะ การดูแลรักษาบ้านเรือนของตนเอง การดูแลรักษาสุขภาพของตน การดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือในการบำบัด การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และการหางานทำ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนแก่เด็กประเภทนี้ ยังต้องใช้แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
1. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายให้มีโอกาสเรียนร่วมในชั้นปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ให้โอกาสกับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ให้มีความรู้ทักษะในด้านวิชาการ สังคม และวิชาชีพเพื่อให้มีพัฒนาการสูงสุด
3. ให้โอกาสกับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ให้มีความรู้และทักษะในด้านวิชาการ การสื่อความหมาย การคำนวณ การรู้จักคิด การวิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
4. การฝึกทักษะชดเชยกับทักษะด้านที่สูญเสียไป เพื่อให้เด็กได้พัฒนาสูงสุดตามศักยภาพของตน
5. เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน